วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

15 วันของหลวงพี่น้องใต้ร่มเงาชายคาผ้าเหลืองของพระพุทธองค์(ภาคจบ)




วันที่เจ็ด...ไม่สบาย”  วันที่เจ็ดแล้วครบหนึ่งสัปดาห์แล้ว วันนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เหมือนวันอื่นๆ วัดเงียบมาก เพราะไม่มีงานโยธา แต่วิ่งที่พิเศษดันเข้ามาคือการเป็นไข้ไม่สบาย เนื่องมาจากอากาศเปลี่ยนแปลง วันนี้เลยทำได้แต่ฉันท์เช้า เพล ทานยาและจำวัด จำวัดและก็จำวัด...โอ้ วันนี้มันช่วงแสนยาวนานเหลือเกิน ดีหน่อยที่พรุ่งนี้กับมะรืนนี้ต้องไปเรียนหนังสือ ก็น่าจำทำให้สองวันนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และไปพบปะญาติๆเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันคงจะดีไม่น้อยแฮะ....

วันที่แปด ไปเรียนหนังสือวันนี้มีอะไรพิเศษกว่าวันอื่นๆที่ผ่านมาคือ วันนี้ได้ไปเรียนหนังสือแต่ไม่ใช่ในรูปแบบเดิม กลับเป็นห่มผ้าเหลืองไปเรียน ทำให้วันนี้ได้พบเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เรียนด้วยกัน ทำให้มีความสุขไปอีกแบบ แต่ภายใต้ความสุขนั้นยังมีความทุกข์คือ ดูเหมือนว่าจะไม่สบายเพราะแอร์ในห้องเรียนเย็นมากๆ ทำให้มีอาการคล้ายจะไม่สบายอยู่เหมือนกัน พรุ่งนี้ต้องไปสอบด้วย เอ้า สู้กันต่อไปพระเพชร...

วันที่เก้า การสอบได้ผ่านไปวันนี้ไปสอบมาครึ่งวันไม่รู้ผลจะเป็นยังไง แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตอนเช้ามีรับกิจนิมนต์ที่หอพักชานหมู่บ้าน มีโอกาสได้เจอพระอาจารย์มหาฯ อีกหน งานนี้เล่นเอาเกือบไปสอบไม่ทัน กลับมาช่วงบ่ายก็ทำงานตามปก กวาดลานวัด รถน้ำต้นไม้ แต่รู้สึกว่าวันนี้ผ่านไปเร็วมาก พรุ่งนี้คือวันจันทร์แล้ว ถ้าเป็นตอนที่ยังไม่บวชก็คงเตรียมตัวไปทำงานแต่นี่ยังไม่ได้ล่าสิกขาบทเลยต้องทำหน้าที่สงฆ์ต่อไป นับไปนับมาเหลืออีก 7 วันคือวันอาทิตย์ถัดไปก็จะเวลาสิกขาบทแล้ว ต้องกลับไปทำหน้าที่คราวาสต่อไปแล้ว มองไปมองมาเร็วเหมือนกันแฮะ....

วันที่สิบ เพื่อนแท้มีอยู่จริงหรือเข้าสู่วันที่สิบที่ได้มาบวชแล้ว วันนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษๆ เลย จนกระทั่งช่วงสายๆ ก่อนเพล หมาวัดสองตัวที่หลวงปู่ท่านได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กๆ เล่นด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกันมาตลอด จู่ๆ วันนี้ดันมาทะเลาะกันกัดกันแบบเอาเป็นเอาตายไม่มีใครยอมใคร...มันทำให้หลวงพี่อดคิดไม่ได้ว่า...เพื่อนแท้นั้นมีอยู่จริงไหม??” ขนาดหมาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์ที่สุดชนิดนึ่ง ยังมากัดเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายของตนได้แบบไร้สาเหตุ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็หยอกล้อ คลอเคลียร์กันเป็นอย่างดี แล้วประสาอะไรกับมนุษย์ตาดำๆ อย่างหลวงพี่หรือโยมทั้งหลาย ที่จะไม่มีความรักโลภโกรธหลงเข้ามาแทรกได้....จริงไหมทุกท่าน ???

วันที่สิบเอ็ด.....เปลี่ยนแผนกระทันหันวันนี้วันสบายๆอีกวัน ไม่มีปัญหาเรื่องการคลุมผ้าอีกต่อไป แต่ก้ได้รับข่าวที่ค่อนข้างประหลาดใจพอสมควร เมื่อสำนักพระราขวังแจ้งเลื่อนกำหนดการพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและ มข. มมส. ออกไปเป็น เมษายน 2556 เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงประชวร จึงทำให้ต้องปรับแผนใหม่พอสมควร จากเดิมมีกำหนดที่จะไปถ่ายภาพบัณฑิต ต้องเปลี่ยนมาเป็นอาจจะไปต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางมาจาก เมืองเวียงจันทร์ (งานนี้มีแอบยิ้มในใจเล็ก เพราะอะไรนั้นยังไม่บอก) แต่ต้องรอเช็ดกับทางท่านอุปชาและหลวงปู่ว่าขึ้นตอนในการลาสิกขาบทนั้นจะใช้เวลานานไหม ถ้านานอาจจะไม่ได้ร่วมเดนิทางไปด้วยในวันแรกก็เป็นได้
จากการเลือกกำหนดการพระราชทานปริญญาบัตรดังกล่าวนั้น หลวงพี่คิดถึงสำนวนไทยอยู่คำนึ่งคือ กระต่ายตื่นตูมเพราะช่วงแรกๆที่มีข่าวมาต่างตื่นตัวกันยกใหญ่ ขนาดมหาวิทยาลัยฯเอง ยังลงข่าว แล้วลบข่าวอันนี้เป็นไปได้... ต้องรอช่วงบ่ายๆ ถึงยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเลื่อนแน่นอน....

วันที่สิบสอง สบายใจเหตุใดจึงกลว่าว่าสบายได้อย่างเต็มปาก ก็เพราะว่าหลวงพี่ครองผ้าเหลืองมาได้ 12 วันเต็มๆ แล้ว ช่างน่าดีใจเป็นยิ่งนัก วันนี้รู้สึกสบายใจมากๆ เริ่มคิดวางการดำเนินชีวิตหลังลาสิกขาบท ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ตามลำดับความสำคัญ พร้อมกันนี้ก็ไม่ลืมที่จะท่องบทให้ศีลและบทลาสิกขาบทให้ได้สักครั้งก่อนลาสิกขาบทออกไป
แต่คิวงานทั้งงานราช งานหลวงมี่รออยู่ยาวเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจงวางแผนในการใช้ชีวิตให้ดี...แล้วชีวิตนี้จะคุ้มค่า ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

วันที่สิบสาม พรุ่งนี้วันพระวันนี้สบายๆ ใกล้ครบกำหนดตามที่ให้คำมั่นไว้แล้ว หลวงพี่รู้สึกสบายใจขึ้นมากช่วงนี้ พรุ่งนี้เป็นวันพระมีภารกิจที่จะต้องเตรียมที่ทางสำหรับทำกิจกรรมทำบุญวันพระไว้ให้ญาติโยมตอนเช้าๆ ของวันพรุ่งนี้ อีกทั้งหลวงพี่เองก็ต้องเตรียมตัวให้ศีลญาติโยมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมในการปฏิบัติของวัดที่มีมาแต่ช้านานว่า พระใหม่ก่อนที่จะลาสิกขาบท ต้องให้ศีลญาติโยมก่อนอย่างน้องหนึ่งศีล(หนึ่งศีลในที่นี้คือหนึ่งครั้งในวันพระเด้อ) โดยบทให้ศีลมีดังนี้
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธะสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธะสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธะสะ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง
ปาณาติปาตา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ
อิทิณณาทานา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐาณา เวระมะณีสิกขา ปะทังสะมาทิยามิ...

อิมานิ ปัญจะ สิกขา ปะทาณิ สีเลณะ สุคะติง ยันติ สีเลณะ โภคคะสัมปทา
สีเลณะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
อีกข่าวดีสำหรับวันนี้คือได้รับ E-mail จากท่านรองฯแผน ของคณะฯ ว่า คณะฯได้รับการสนับสนุกงบประมาณในการจัดหาครุภัณฑ์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นจำนวนเงินล้านกว่าบาทเลย ดีใจเหมือนกันที่ช่วยคณะฯ ประหยัดงบเงินรายได้พอสมควร...

วันที่สิบสี่ น่าจะเป็นวันที่หินที่สุดในการบวชสิบห้าวัน เหตุที่บอกเช่นนั้นก็เพราะว่าวันนี้แจ๊คพ็อตลงที่พระใหม่เต็มๆ ญาติโยมรวมทั้งหลวงปู่ มอบหมายให้หลวงพี่น้อยให้ศีลในวันพระจริงๆ ด้วย ขนาดเตรียมตัวไปอย่างดีก็ยังออกอาการเขินๆ เพราะคนเยอะต่างจ้องมองที่เรา ดีนะที่เอาตัวรอดมาได้ การได้ให้ศีลในการบวชระยะสั้นๆ เพียง 15 วัน ให้ศีลได้หนึ่งครั้งพ่อแม่ก็ดีใจแล้ว วันนี้หลวงพี่น้อยฉันข้าวนิดเดียว เพราะมันรู้สึกอิ่มในใจ อย่างบอกไม่ถูก เพลก็ยังอิ่มๆ อยู่ ทั้งที่ได้เวลาฉันเพล ฉันได้นิดเดียว แต่...งานมาเข้าตอนเย็นอาการหิวเริ่มมา ต้องพึ่งนมขวดในตู้เย็นที่โยมพ่อซื้อมาตุนไว้ให้ และโอวันติลร้อนๆ ช่วยประทังอาการหิวได้นิดหน่อย เคล็ดไม่ลับอีกอย่างหนึ่งในการช่วยให้คลายหิวคือ...การมานั่งพิมพ์เรื่องราวต่างๆให้เราๆ ท่านได้อ่านกันนี่ละ และอีกอย่างที่ได้ไม่น้อยคือการสวดมนต์และ หัดท่องบทสวดลาสิกขาบท เพราะใกล้เวลาที่จะต้องลาสิกขาแล้ว
โดยบทสาลิกขาบทมีดังนี้
สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ
ข้าพเจ้าลาสิกขาบทแล้ว ท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่าข้าพเจ้าคือคฤหัสถ์
และบทแสดงตนเป็นอุบาสก
เอสาหัง พันเต สิจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ อุปาสกัตตัง สังโฆ ธาเรตุ”…

วันที่สิบห้า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่จะนอนที่วัดในการครองผ้าไตรจีวรตลอดเวลา 15 วัน ที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างมากมาย ทำผิดก็นับครั้งไม่ถ้วนเหมือนกัน  ช่วงเวลาที่ผ่านมาดังกล่าวช่างเป็นช่วงเวลาอันน้อยนิดแต่แฝงไปด้วยความพิเศษมากมายสำหรับชีวิตนี้ของหลวงพี่น้อย ที่ได้บวชทดแทนคุณบิดามารดา กลับออกไปหลวงพี่คงมีอะไรให้คิดถึงหลายๆอย่างที่วัด ไม่ว่าจะเป็นคำสอนขแงพระพุทธองค์ที่ว่าด้วยความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งวิถีการใช้ชีวิตในวัดที่ต้องตื่นแต่ตีสี่ ตีห้าทุกๆวันรับอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าๆ ทุกวัน ที่การใช้ชีวิตข้างนอกนั้นไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ได้เรียนรู้กิจวัตประจำวันอันดีงามของสงฆ์ ว่าวันๆ พระท่านทำอะไรบ้างในเวลา 24 ชั่วโมง เท่าๆกัน คืนนี้คงนอนไม่ค่อยหลับแน่ๆ เพราะมีเรื่องให้คิดมากมาย ทั้งคิดถึงการใช้ชีวิตในวัดแห่งนี้ ทั้งยังต้องคิดเผื่อวันพรุ่งนี้และวันต่อไปว่า หลวงพี่จะต้องทำอะไรบ้างเมื่อลาสิกขาบทออกไป อีกใจนึ่งก็ตื่นเต้นไม่น้อยที่จะลาสิกขาบทออกไปใช้ชีวิตตามปกติ (มันพอดีกับวันที่คนสำคัญมาพอดี...^^)
ที่เขียนบันทึกเรื่องราว ต่างๆ ขึ้นมานี้หลวงพี่ไม่ได้มีเจตนาจะชักจูงใครที่ชีวิตนี้ไม่คิดจะบวช นั้นมาบวชนะครับ เพียงแต่หลวงพี่อยากบอกว่า....การบวชให้อะไรเรามากกว่าที่เราคิดและเราเห็นการบวชให้อะไรเรามากกว่า การบวชเพื่อแก้บน การบวชเพื่อแต่งงาน การบวชเพื่อทดแทนคุณ แต่การบวชนั้นหมายถึงการเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาผ้าเหลือง ของพระพุทธองค์อันสงบสุข หลวงพี่เองก็ยังไม่บรรลุถึงธรรมหรอก แต่หลวงพี่มองเห็นสิ่งหนึ่งเสมอตลอดการบวช 15 วันนี้คือ หลวงพี่เห็นความสุข ในสายตาของชายหญิงหนึ่งตลอดเวลา 15 วัน สายตาสองคู่นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความปลื้มปิติ ความยินดีปรีดาที่ได้เห็นลูกชายของท่านอยู่ในชายผ้าเหลือง....


15 วันของหลวงพี่น้องใต้ร่มเงาชายคาผ้าเหลืองของพระพุทธองค์(ภาคหนึ่ง)





หลายคนคงเฝ้าถามตลอดว่า ทำไมลูกผู้ชาย เกิดมาถ้ายังไม่ได้บวช เขาจะเรียกว่าคนดิบ เมื่อบวชแล้วเข้าจะเรียกคนสุกนานาเหตุผลที่ได้เคยได้ยินมา บ้างก็ว่าเป็นกุศโลบายของการที่ชายหนุ่มในวัยก่อนเบญจเพสหรือใกล้เคียงกันที่จะต้องบวชทดแทนคุณบิดามารดา บ้างก็ว่าการบวชเป็นเหมือนการทำให้บิดามารดา ได้มีโอกาสได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แต่จะเท็จจริงประการใดนั้นไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้แน่ๆ แต่มีอยู่อย่างหนึ่ง ที่พิสูจน์แน่นอนและทันตาเห็นเมื่อตอนบวช นั่นก็คือ การทดแทนบุญคุณบิดามารดา ความปลื้มปิติ ความตื้นตันใจ ที่ออกมาจากแววตาที่ลายได้บวชทดแทนคุณนั้น มันเห็นได้อย่างชัดเจน....เหล่าบรรดาญาติมิตร เพื่อนฝูงต่างมาร่วมอนุโมทนาบุญกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ระยะเวลา 15 วันจะว่านาน มันก็นานแสนนานเหมือนเวลา 15 ปี ในบางความรู้สึก แต่จะว่าเร็วมันก็คงผ่านไปไวเหมือนโกหกเช่นกัน....แต่ถ้ามองแบบกลางๆ แล้ว ระยะเวลา 15 วันคงเป็นระยะเวลาที่มีความพอดีในหลายๆอย่าง ๆสำหรับคนวัยทำงานอย่างเราๆ (อันนี้ในความคิดผมเองนะ) พอดีแรกคือพอดีกับระยะเวลาในการศึกษาพระธรรมเป็นช่วงสั้นๆ อย่างน้อยก็คงให้ศีลแก่ญาติโยมได้บ้าง พอดีที่สองคือได้ห่างจากโลกมนุษย์ที่แสนวุ่นวาย ห่างจากสังคมที่แสนเบื่อหน่ายไปสักชั่วระยะหนึ่ง พอดีที่สามคือคงทำให้สมาธิ ความมุ่งมะนะในการที่จะทำงาน ในการที่จะอะไรๆ อย่างตั้งใจเพราะห่างหายไปนานพอสมควร
มาดูวิว่า วันๆ พระท่านต้องทำอะไรบ้าง.......
วันแรก....บวชเสร็จใหม่ยังงงๆ กับการเปลี่ยนสถานะจากคราวาสธรรมดา มาพระภิกษุบอกได้อย่างเดียวว่าทำอะไรไม่ถูก ต้องสังเกตหลวงตา และคอยทำตามท่านว่าท่านทำอะไรบ้าง เริ่มจากการคลุมผ้าจีวร ที่ยังคลุมไม่เป็นต้องคอยให้หลวงตาท่านช่วยสอนคลุมผ่าไตรจีวร ซึ่งดูแล้วไม่ง่ายเลย การคลุมผ้าไตรจีวรนั้นมีสองวิธีคือการคลุมผ้าออกไปบิณฑบาตตอนเช้า ซึ่งการคลุมแบบนี้จะให้ผ้าไตรจีวรปิดมิดชิดทั้งหมด โดยจะเปิดแง้มออกเมื่อตอนเปิดฝาบาตรรับบิณฑบาตเท่านั้น ส่วนอีกแบบเป็นการห่มแบบที่ใช้รับกิจนิมนต์และนั่งฉันท์ที่วัด....การนั่งการปฏิบัติตัวทุกอย่างต้องสำรวม ข้อห้ามมีอย่างมากมาย ผ่านไปอย่างงงๆ หรับวันแรก และยังมีความไม่แน่ใจอยู่ในหัวเสมอว่า เราจะอยู่ครบไหม 15 วัน....
วันที่ 2 เอ๊ะ...นึกไปนึกมาไวเหมือนกัน แป๊บเดียว 2 วันละเหลืออีก แค่ 13 วันต้องทำได้สิน่า...แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับการเป็นสงฆ์ หลายๆคำสอนจากพระอาจารย์เริ่มมาให้พระใหม่ได้เรียนรู้และศึกษา เสร็จกิจตอนเช้า วันนี้มีงานโยธาที่วัดงานเทคอนกรีตถนน เลยดีหน่อยมีผู้คนมาวัดเยอะแยะไปหมด แต่ก็วุ่นวายพอดู แถมโยมพ่อมาร้องให้ต่อหน้าให้เห็นถึงความปลาบปลื้ม ก็เลยพลอยทำให้คิดถึงบ้านไปใหญ่
วันที่ 3...ผ่านไปสามวันเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น แต่วันนี้ก็ยังคึกคักเพราะมีงานโยธาที่วัด มีการเทพื้นคอนกรีตที่ถนนรอบๆวัด คนมาเหมือนทำบุญกฐินก็ดีเหมือนกันนะไม่เหงาดี ตอนที่ทำงาน ตอนที่ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆกับโยม แต่เมื่อมาจำวัด มาท่องหนังสือ ก็อดคิดเหงาๆ ไม่ได้ เพราะ เป็นโรคอยู่คนเดียวไม่ค่อยจะได้...แต่วันนี้ดีหน่อยมีพระอาจารย์จากทาง อ.เสนาคนิคม มาจำวัดด้วยสักสี่-ห้าวัน เลยทำให้ไม่เหงาเท่าไหร่ พระอาจารย์ท่านนี้เป็นพระอาจารย์สวด จบการศึกษาระดับ ป.โท แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา ก็ได้ท่านเป็นเพื่อนสนทนาในหลายๆเรื่องถือว่าดี แต่ก็ยังอดกังวล(ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดมา) คือการให้ศีลที่ยังท่องไม่ได้ และการคลุมผ้าไตรตอนออกไปบิณฑบาตตอนเช้า ใครที่ว่าง่ายๆ ลองมาคลุมดูแล้วจะรู้ว่าไม่ง่าย....
วันที่ 4 และ 5 ขอรวบทีเดียวสองวันละกันเพราะวันที่ 4 ยุ่งมากจนลืมเขียน พระอาจารย์พาทำงานวัดจนเพลินเลยเถิดถึงค่ำๆ ไล่ไปจากกวาดเศษวัสดุ เศษใบไม้ในวัดจนสะอาดสะอ้านดูดีมาก ถือว่าผ่านไปเร็วมากสำหรับวันที่ 4 ส่วนวันที่ 5 นั้นตอนนี้บอกได้คำเดียวว่าดีใจเล็กๆ นี่ผ่านไปหนึ่งในสามของสิบห้าแล้วเหรอนี่ผ่านไปแป๊บเดียวไวเหมือนกันแฮะ...แต่พึ่งจะคลุมผ้าได้เอง การให้ศีลให้พรโยมนั้นยังท่องไม่ได้เลย...มัวแต่ทำหน้าที่ของพระใหม่ ทำงานปัดๆ กวาด ๆ วัดอยู่นั่นเอง
แต่วันนี้ช่วงบ่ายๆ วันนี้ต้องเตรียมโต๊ะสำหรับวางดอกไม้ธูปเทียน และวางบาตรเนื่องจากพรุ่งนี้เป็นวันพระ ไม่ได้ออกไปบิณฑบาต จะมีญาติโยมมาใส่บาตรที่วัด หรือภาษาอีสานเรียกว่าวันสินนั่นเอง
วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นความจริงบางอย่างว่า ถ้าอยู่คนเดียวนี่เวลานี่มันนานมาก และบอกไม่ถูกว่าอาการเดิมๆ เริ่มกลับมาคือคิดถึงบ้าน และเหงา ๆ เพราะช่วงบ่าย พระอาจารย์ท่านไปเยี่ยมพระอุปชา หลวงปู่อีกท่านก็ไม่อยู่ ส่วนอีกท่าน ท่านก็อยู่เงียบๆ เลยเป็นที่สรุปว่า อย่าพยายามจำวัดอยู่ในกุฏิ ควรเดินๆหาอะไรทำแก้เครียด (หลายคนคงคามว่าเป็นพระแล้วยังเครียดยังไม่ติดทางโลกอีกเหรอ??) ตอบได้เลยว่าเรามาเป็นสงฆ์ทำหน้าที่ลูกผู้ชายตอบแทนคุณบิดามารดา แต่เราก็ต้องคอดให้รอบคอบว่า เรามาภาระอะไรบ้างที่ยังค้างอยู่ หรือเมื่อลาสิกขาบทแล้วเราจะต้องทำต่อไป....พรุ่งนี้พระอาจารย์ท่านก็จะกลับวัดท่านแล้ว ก็คงเหลือพระที่นี่สามรูปรวมเราด้วยแต่คงเพิ่มความเบื่อเข้ามาไม่น้อย เพราะคงต้องอยู่คนเดียวไปอีกสัปดาห์เศษโดยประมาณ....
วันที่หก วันที่ท่านมหากลับไป…” ตอนเช้าๆ ถึงเพลดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาชิวๆ แบบวันเดิมๆ วันนี้เป็นวันพระไม่ได้ออกบิณฑบาต ตอนเช้าเพราะมีญาติโยมมาทำบุญที่วัดคึกคักน่าดู พระก็ต้องคลุมผ้าไตรจีวรแบบเต็มยศ เลยว่างั้น คือคลุมดองมิดชิด แถมคาดผ้าสังฆา (ผ้าพาดที่บ่าด้านซ้าย) เป็นวันแรกที่ได้ซองจากการเทศน์เพราะมีเหล่าบรรดาผู้ใจบุญมาทำบุญ เยอะแยะได้ซองมาครั้งแรกในชีวิตเป็นเงิน 80 บาท ในใจก็ไม่ได้คิดอยากจำได้อะไรหรอกเพียงแต่มีผู้นำมาถวายก็ต้องรับไว้ เพราะพระไม่สามารถปฏิเสธการบริจาค หรือการทำบุญจากโยมได้ แต่เมื่อหลังฉันท์เพลเสร็จ เหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อโยมเลี้ยง มานิมนต์พระในวัดรวมถึงพระลูกวัดไปสวดถอดสิ่งไม่ดีที่เถียงนาของโยมเลี้ยงเอง ตั้งแต่เกิดมาก็พึ่งเคยเห็นเป็นครั้งนี้ละเป็นการทำพิธีง่ายๆ โดยการใช้กระทงหมู(กระทงที่ทำด้วยเปลือกสดๆของต้นกล้วย ใส่ของกิน คำหมากและพลู) 4 อัน  ไปวางไว้ 4 มุมของเถียงนาและปักด้ายสายสิญจน์ ทั้งสี่ทิศ โดยท่านมหาฯ ได้ทำการสวดแผ่เมตตา เสร็จแล้วหลวงปู่ ท่านก็สวดอีกสองบท เป็นอันเสร็จพิธี เก็บด้าย เสาปักด้าย และกระทง ทำไปวางไว้บนทางสี่แพร่ง ซึ่งคำคนแก่โบราณท่านเชื่อว่า เป็นการนำมาหลบซ่อนจากสิ่งไม่ดี งานนี้ได้ซองปัจจัยมา 300 บาท (โอ....อะไรกันนี่) กลับมาถึงวัดงานโยธายังรออยู่ คือการเกลี่ยหินลูกรังลงขอบทางคอนกรีตที่พึ่งเทเสร็จไป พร้อมกับรถไถสองคัน เล่นเอาจนบ่ายสี่โมงเย็น พอมาถึงเวลาค่ำๆ อีกทีพึ่งรู้ตัวว่าท่านมหาฯ คู่สนทนาท่านได้กลับวัดของท่านที่ อ.เสนาฯ ไปแล้ว ความเงียบเข้ามาเยือนเพราะไม่มีคู่สนทนา....ต่อไปก็คงต้องตั้งใจสวดมนต์สามบทที่ท่านมหาได้ให้เป็นการบ้านให้ได้ ดังคำท่านมหาฯ ว่าไว้ มาอยู่วัดไม่หมั่นสวดมนต์ บุญก็ไม่บังเกิด
โดยบทแรกจะใช้สวดก่อนฉันท์เช้าคือบท
ยะถา วาริวะหา ปูรา              ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง               เปตานัง อุปกัปปะติ
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง               ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา              จันโท ปัณณะระโส ยะถา
มะณิ โชติระโส ยะถา

สัพพี ติโย วิวัชชันตุ                  สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย             สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
สัพพี ติโย วิวัชชันตุ                  สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย             สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
สัพพี ติโย วิวัชชันตุ                  สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มา เต ภะวัตวันตะราโย             สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อภิวทะนะสีลิสสะ                   นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ             อายุ วัณโณ สุขัง พลังฯ

ส่วนบทที่สองคือบทให้ศิล
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา
สีเลนะ นิพพุตัง ยันติ สันมา สีลัง วิโสธะเย

ส่วนบทสุดท้ายคือบทสวดสำหรับฉันท์เพล
สัพพะโรคะวินิมุตโต               สัพพะสันตาปะวัชชิโต
สัพพะเวระมะติกกันโต              นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะฯ
สัพพิติโย วิวะชชันตุ                 สัพพะโรโค วินัสสะตุ
มาเต ภะวัตสันตะราโย              สุขึ ทีฆายุโก ภะวะ
อภิวทะนะสีลิสสะ                   นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ             อายุ วัณโณ สุขัง พลังฯ

ทั้งสามบทนี้พระอาจารย์มหาฯ ท่านว่าควรท่องให้ได้เพราะบวชตั้ง 15 วัน....
แต่ในอยากท่องบทนี้เร็วๆมากกว่า...
สิกขัง ปัจจักจามิ คิหีติ มัง มาเรถะ
ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์
และ
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะวะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ อุปาสะกัตตัง สังโฆ ธาเรตุ

โดยทั้งสองบทนี้คือ คำสาสิกขาบทและ คำแสดงตนเป็นอุบาสก  แต่ก็ต้องรอไปก่อนเพราะยังไม่ถึงเวลา ต้องมุ่งมั่นทำ ณ ปัจจุบันให้ดีที่สุด ความห่วงทั้งโยมพ่อ โยมแม่ ทั้งเพื่อฝูง ทั้งสีกาที่อยู่ทางนครหลวงเวียงจันทร์นั้นลืมไปก่อน....